วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทย

การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในประเทศไทย
        สภาพปัญหาการทุจริตในประเทศไทยเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มหนักหน่วงและรุนแรงมากขึ้น หากปล่อยให้สภาพการณ์ยังดำเนินไปในลักษณะดังกล่าวอาจนำมาสู่ปัญหาการล้มละลายของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันการทุจริตคอรัปชั่นกลับสร้างความมั่งคั่งให้กับฝ่ายการเมืองที่แสวงประโยชน์จากการใช้อำนาจรัฐ การแก้ไขปัญหาการทุจริตจึงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปัญหารทางการเมือง ซึ่งในที่นี้จะแยกพิจารณาออกเป็น 2 หัวข้อ ดังนี้ 1. สภาพปัญหา 2. ประเด็นข้อ



พิจารณาและข้อเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. สภาพปัญหา
หากกล่าวโดยสรุปปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยเป็นปัญหาที่มีมิติเกี่ยวข้องหลายมิติ ซึ่งในที่นี้อาจสรุปได้ดังนี้
1.1 ปัญหาการทุจริตมีรากฐานใหญ่มาจากระบบการเมือง เมื่อระบบการเมืองเป็นระบบรวมศูนย์ผูกขาดหรือที่เรียกว่า ระบบเผด็จการรัฐสภาโดยพรรคการเมืองนายทุนระบบนี้อาศัยการให้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆเป็นเครื่องผูกมัดระบบการเมือง ซึ่งนำมาสู่การทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร
1.2 ความซับซ้อนของการทุจริตเชื่อมโยงกับการทุจริตเชิงนโยบาย อาศัยอำนาจสูงสุดทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นฐานในการดำเนินการ โดยการทุจริตเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ชั้นการแปรญัตติงบประมาณจนไปถึงการดำเนินการในระดับพื้นที่ การที่องค์กรระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตยิ่งทำให้มีปัญหาในการตรวจสอบมากขึ้น
1.3 ระบบตรวจสอบรวมทั้งองค์กรที่รับผิดชอบขาดประสิทธิภาพ การวางระบบองค์กรในการตรวจสอบให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบโดยองค์กรของรัฐอื่นๆไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก่อให้เกิดปัญหาในระบบการตรวจสอบของรัฐหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาการมีเรื่องเข้าสู่การพิจารณามากเกินกำลังของบุคลากร ไปจนถึงการขาดการประสานร่วมมือกันขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ
1.4 ระบบการลงโทษไม่ก่อให้เกิดความตระหนักต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากระบบการตรวจสอบของภาครัฐขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นระบบการลงโทษจึงไม่ส่งผลให้เกิดความเกรงกลัวต่อผู้กระทำความผิด ประเด็นสำคัญของการลงโทษคือประสิทธิภาพของการดำเนินการพิจารณาที่ใช้ระยะเวลาไม่นานนัก เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
1.5 ประชาชนบางส่วนได้ประโยชน์จากการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโครงการประชานิยม กลุ่มบุคคลดังกล่าวมักจะเป็นฐานทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น การทุจริตดังกล่าวจึงนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายทางการเมือง การทุจรติจึงไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองเพียงลำพังที่จะได้ประโยชน์ หากแต่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเครือข่ายด้วย
1.6 การทุจริตเกี่ยวโยงกับภาคเอกชน ภาคการเมืองและภาคราชการ การทุจริตทั้งหลายมิอาจสำเร็จผลได้จากการกระทำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่มีความเกี่ยวข้องกับของหลายฝ่าย ดังนั้นการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นจึงมิใช่เพ็งเล่งแต่ภาคการเมืองและภาคราชการเท่านั้น หากแต่ต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับภาคเอกชนด้วย ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การทุจริตคอรัปชั่นสำเร็จผลได้
1.7 การทุจริตมีปัญหารากฐานจากทัศนคติของผู้คนในสังคม ทัศนคติ วัฒนธรรมและความแข็งในทางคุณธรรมของสังคมเป็นภาคสะท้อนถึงปัญหาการทุจริตของสังคมไทย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาการทุจริตในระยะยาวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังคุณธรรม ซึ่งเคยมีความเข้มแข็งในสังคมไทยให้กลับมาเข้มแข็งดังเดิม

2. ประเด็นข้อพิจารณา
มาตรการในการดำเนินการกับปัญหาการทุจริตอาศัยมาตรการหลัก ๕ ประการ ดังนี้ 2.1 ลดโอกาสการทุจริต
2.2 เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราม
2.3 สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม
2.4 การบริหารภาครัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น
2.5 การปรับเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับเรื่องทุจริต โดยมีประเด็นข้อพิจารณา ดังนี้
2.5.1 ลดโอกาสการทุจริต
-ควรเพิ่มความผิดฐาน การร่ำรวยผิดปกติให้เป็นความผิดทางอาญาด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตฯ ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคีแล้ว
- ควรเพิ่มกรณีของ สมคบกันทุจริตควรกำหนดให้เป็นความผิดตามแนวทางกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อสามารถใช้เครื่องมือตามกฎหมายดังกล่าวมาใช้ในการป้องกันและปรามการทุจริตที่มีการสมคบกันทุจริตได้
- เรื่อง การพัสดุควรกำหนดให้เป็นพระราชบัญญัติเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจในการยกเว้นการบังคับใช้ทั้งนี้เพื่อทำให้กระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสมากขึ้น
- รัฐมนตรีจะต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายประจำที่จะต้องรับผิดชอบ ฝ่ายรัฐมนตรีหรือฝ่ายการเมืองเป็นเพียงผู้กำหนดนโยบายแต่การดำเนินการให้บรรลุตามนโยบายโดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายประจำ
- ความผิดทางจริยธรรมของนักการเมืองควรกำหนดให้มีองค์กรและความรับผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งนี้ หากอาศัยเกณฑ์เฉพาะความผิดในทางอาญามาใช้จะทำให้กระบวนการในการพิจารณา รวมทั้งการรวบรวมพยานหลักฐานมีข้อจำกัดในการเอาผิดต่อฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง

2.5.2 เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราม
- กำหนดให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต” (ปปช.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ” (ปปท.) เป็นองค์กรในระดับ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสถานะและการได้มาของกรรมการเช่นเดียวกับ ปปช.
- ปปช. รับผิดชอบตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่วน ปปท. รับผิดชอบตรวจสอบข้าราชการ โดยให้เป็นองค์กรอิสระจากฝ่ายบริหารและคณะรัฐมนตรี
- เมื่อมีการร้องเรื่องการทุจรติหน่วยต้นสังกัดมีหน้าที่รายงาน ปปช. หรือ ปปท. และมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นและรายงานต่อ ปปช. หรือ ปปท. แล้วแต่กรณี หากสรุปผลการสอบไม่มีความผิดทางวินัยก่อนแจ้งผลต่อผู้เกี่ยวข้องจะต้องรายงานต่อ ปปช. หรือ ปปท. ก่อน และหากมีกรณีที่หน่วยงานต้นสังกัดช่วยเหลือหรือบิดเบือนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและหัวหน้าส่วนราชการจะต้องมีความผิดในทางอาญา
- ปปช.และ ปปท. ควรมีอำนาจในการสอบสวนด้วย ไม่ใช่อาศัยการไต่สวนอย่างเดียว ทั้งนี้เพื่อให้สามารถแสวงหาข้อเท็จจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เมื่อ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, หรือหน่วยงานตรวจสอบที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องทุจรติแล้วเมื่อส่งเรื่องมาที่ ปปช. หรือ ปปท. ควรมีการตั้งอนุกรรมการร่วมกันเพื่อดำเนินการชี้มูลต่อไป โดยไม่ต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาเหมือนกรณีทั่วไป
- เพื่อให้การสั่งคดีของอัยการสูงสุดปราศจากการมีส่วนได้เสียและเกี่ยวข้องใดๆ ต้องห้ามมิให้พนักงานอัยการไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ โดยไม่มีข้อยกเว้น
-ให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจเรียกชื่อว่า คณะกรรมการอัยการพิเศษเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจสำหรับแต่ละคดี
- ควรมีองค์กรที่คอยตรวจสอบงบประมาณและการใช้งบประมาณ เนื่องจากปัญหาการทุจริตมีความเกี่ยวโยงตั้งแต่การจัดทำงบประมาณในชั้นของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น เพื่อป้องกันการทุจริตจึงควรมี คณะกรรมการติดตามตรวจสอบงบประมาณและการใช้งบประมาณ

2.5.3 สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคม
- การคุ้มครองประชาชนหรือผู้แจ้งเบาะแสควรมีมาตรการในการคุ้มครองที่มีหลักประกัน
-การให้ประชาชนสามารถฟ้องร้องคดีได้ควรเป็นมาตรการสุดท้ายที่ไม่มีแนวทางอื่นใด
- องค์กรภาคประชาชนจะต้องเข้ามามีบทบาททั้งในระดับการกำกับการทำหน้าที่ของ ปปช./ปปท. และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีกฎหมายสนับสนุนภาคเอกชนในการทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- จัดให้มีกองทุนเพื่อสนับสนุนองค์กรภาคประชาชนในการทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ อาจมีความเชื่อมโยงกับ สภาพลเมืองที่จะมีการจัดตั้งตามกฎหมายการกระจายอำนาจ

2.5.4 การบริหารภาครัฐมีความโปร่งใสมากขึ้น
- ข้อมูลของราชการควรให้มีความโปร่งใสและเข้าถึงง่าย โดยข้อมูลที่สำคัญควรให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทางระบบอิเลกทรอนิกส์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
-ในการบริหารงานที่มีผลกระทบต่อประชาชนต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินโครงการมาตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นโครงการ
- องค์กรภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมและสามารถเข้าถึงในกระบวนการตรวจสอบ และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตร่วมกับองค์กรภาครัฐมากขึ้นในทุกระดับ
-ให้มีการเปิดเผยข้อมูลและสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินสูงถึงสูงมากในระบบอิเลกทรอนิกส์ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย

2.5.5 การปรับเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับเรื่องทุจริต
- กำหนดนิยามและความคิดของการ ทุจริตคอรัปชั่นตามแนวทางขององค์กรความโปร่งใสสากลโยมีความหมายที่กว้างขวางขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างกระบวนการปรับเปลี่ยนทัศนะคติและค่านิยม

- รณรงค์การสร้างนิยามและความคิดอย่างต่อเนื่องในสังคม ด้วยการใช้สื่อทุกประเภทเพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวการทุจริตและคอรัปชั่นให้เป็นไปตามทรรศนะที่พึงประสงค์

ที่มา https://kruasri.wordpress.com/author/vkruasri2012/page/4/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น